มะเดื่อทุมพร มะเดื่อสายพันธุ์ไทย(Ficus racemosa Linn.)
มะเดื่อเป็นพืชยืนต้นขนาดใหญ่ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Ficus racemosa Linn. (บางแห่งใช้ Ficus glomerata Roxb.) อยู่ในวงศ์ Moraceae เช่นเดียวกับต้นโพธิ์ ต้นไทรนั่นเอง ยิ่งกว่านั้นยังเป็นญาติใกล้ชิดถึงขนาดอยู่ในสกุล (Genus) เดียวกันอีกด้วย ถิ่นกำเนิดก็อยู่ในบริเวณเดียวกัน จึงมีหลายๆ อย่างคล้ายคลึงกัน โดยเฉพาะด้านความเชื่อและความสัมพันธ์กับคนในท้องถิ่น มะเดื่อมีอยู่หลายชนิดในที่นี้จะกล่าวถึงชนิดที่เรียกว่า มะเดื่ออุทุมพร ซึ่งเป็นมะเดื่อที่คนไทยคุ้นเคยมากที่สุด
“มะเดื่ออุทุมพร” (คำว่าอุทุมพร แปลว่ามะเดื่อในภาษาบาลี) บางพื้นที่เรียก “มะเดื่อชุมพร” เชื่อกันว่าเป็นที่มาของจังหวัดชุทพร ส่วนทางภาคอีสานจะเรียกว่า “เดื่อเกลี้ยง” ทางภาคใต้จะเรียก “เดื่อน้ำ” ซึ่ง มะเดื่ออุทุมพรนั้นถือเป็นไม้มงคลเป็นสมุนไพรที่เก่าแก่มาเป็นพันๆปี เล่ากันว่าพระพุทธเจ้าองค์ที่ 26 พระนามว่า พระโกนาคมนพุทธเจ้า ทรงบรรลุสัมโพธิญาณอันอุดม ณ ควงไม้มะเดื่อ หลังทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ 6 เดือนเต็ม มะเดื่อในตำนานของชาวฮินดูถือว่าเป็นไม้มงคล และเป็นที่นับถือของคนไทย พม่า มอญ มาแต่โบราณ คนไทยเชื่อว่าเป็นไม้มงคลที่สมควรปลูกประจำทิศเหนือโดยจะทำให้บ้านนั้นอุดม สมบูรณ์ ยอดอ่อนและผลอ่อนยังนำมารับประทานเป็นผัก ทั้งเป็นรูปผักสดกินกับน้ำพริกหรือกินกับขนมจีนน้ำยา แกงส้ม ยำ เป็นต้น
ลักษณะของมะเดื่ออุทุมพร(Ficus racemosa Linn.)
มะเดื่ออุทุมพร เป็นต้นไม้ขนาดใหญ่ สูง ๑๕-๒๐ เมตร ทรงพุ่มกว้าง ใบหนาทึบ ใบเดี่ยวรูปไข่หรือรูปใบหอก กว้างประมาณ ๑๐ เซนติเมตร ยาวประมาณ ๒๐ เซนติเมตร ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ ผิวใบเกลี้ยงหรือมีขนปกคลุม ก้านใบยาว ๕ เซนติเมตร หูใบรูปหอกยาวประมาณ ๒ เซนติเมตร ดอกเป็นช่อกลมมีลักษณะคล้ายผล ชาวบ้านมักเรียกช่อดอกนี้ว่าผลหรือ ลูกมะเดื่อ ช่อดอกออกเป็นกระจุกตามลำต้นและกิ่งแก่ ช่อดอกอ่อนสีเขียวเมื่อแก่เปลี่ยนเป็นสีแดงส้ม มีขนอ่อนปกคลุม เส้นผ่าศูนย์กลางช่อดอกประมาณ ๔ เซนติเมตร เกสรตัวผู้อยู่บริเวณรอบช่องเปิด เกสรตัวเมียอยู่ภายในโพรงช่อดอก ผลมีขนาดเล็ก เมล็ดขนาดเล็กยาวประมาณ ๑ มิลลิเมตร เมล็ดแข็ง สีเหลือง
ถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของมะเดื่ออุทุมพร ครอบคลุมเขตร้อนของทวีปเอเชีย ตั้งแต่อินเดียถึงประเทศจีน ในไทยพบขึ้นตามป่าดิบชื้นและป่าดิบเขา มักขึ้นตามริมลำธารที่ระดับความสูง ๑,๐๐๐-๑,๒๕๐ เมตร จากระดับน้ำทะเล ชื่อมะเดื่ออุทุมพรสันนิษฐานว่ามาจากการรวมชื่อมะเดื่อกับชื่อในภาษาสันสกฤต คือ Udumbar เป็น มะเดื่ออุทุมพร ในภาคกลางเรียกมะเดื่ออุทุมพร ภาคใต้เรียกเดื่อน้ำ ภาคเหนือ(ลำปาง) เรียก มะเดื่อ ภาษาอังกฤษเรียก Cluster Fig
ถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของมะเดื่ออุทุมพร ครอบคลุมเขตร้อนของทวีปเอเชีย ตั้งแต่อินเดียถึงประเทศจีน ในไทยพบขึ้นตามป่าดิบชื้นและป่าดิบเขา มักขึ้นตามริมลำธารที่ระดับความสูง ๑,๐๐๐-๑,๒๕๐ เมตร จากระดับน้ำทะเล ชื่อมะเดื่ออุทุมพรสันนิษฐานว่ามาจากการรวมชื่อมะเดื่อกับชื่อในภาษาสันสกฤต คือ Udumbar เป็น มะเดื่ออุทุมพร ในภาคกลางเรียกมะเดื่ออุทุมพร ภาคใต้เรียกเดื่อน้ำ ภาคเหนือ(ลำปาง) เรียก มะเดื่อ ภาษาอังกฤษเรียก Cluster Fig
ประโยชน์ด้านการนำมาประกอบอาหาร
- ส่วนที่นำมากินเป็นผัก คือ ช่อดอก (หรือที่คนไทยเรียกว่าผลหรือลูกมะเดื่อ) โดยใช้ช่อดอกอ่อนหรือดิบเป็นผักจิ้มหรือใช้แกง เช่น แกงส้ม ความจริงช่อดอก(ผล)ของมะเดื่อชนิดอื่นที่กินเป็นผักได้หลายชนิด แต่ส่วนใหญ่ผลเล็กและรสชาติ ไม่ดีเท่าช่อดอกมะเดื่ออุทุมพร ช่อดอกแก่(ผลสุก)สีแสดแดง กินเป็นผลไม้ชนิดหนึ่ง ช่อดอกแก่(หรือผลสุก)ของมะเดื่ออุทุมพรนี่เองที่พบแมลงหวี่อยู่ภายในเสมอ จนทำให้คนไทยมีทัศนคติไม่ดีต่อมะเดื่อ
- การศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างแมลงหวี่กับมะเดื่อ พบว่า ทั้ง ๒ ฝ่ายต่างพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน (symbiosis) โดยมะเดื่ออาศัยแมลงหวี่ผสมเกสรให้ติดเมล็ด ส่วนแมลงหวี่อาศัยมะเดื่อเป็นอาหารและฟักไข่ให้เป็นตัวจนบินได้ จึงจะเห็นได้ว่าทั้งแมลงหวี่และมะเดื่อต่างก็อาศัยอีกฝ่ายหนึ่ง ในการสืบพันธุ์ต่อไปได้
ประโยชน์ด้านทางยาของมะเดื่อทุมพร
- ราก : ใช้ต้มน้ำดื่ม แก้ไข้ แก้หวัด แก้ไข้ออกตุ่ม แก้ไข้ที่ทำให้ต่อมน้ำเหลืองโต แก้ร้อน นอกจากนั้นยังใช้ฝนทารักษาเริมและงูสวัด และ ใช้กระทุ้งพิษไข้ กล่อมเสมหะและเลือด แก้ไข้หวัด ไข้กาฬ และไข้พิษทุกชนิด
- เปลือกต้น : ใช้แก้ท้องร่วง ท้องเสีย ประดงเม็ดผื่นคัน และชะล้างบาดแผล ห้ามเลือด แก้อาเจียนและใช้ต้มข้าวน้ำชะล้างแผลรักษาแผลเรื้อรัง ใช้อมบ้วนปาก แก้เหงือกบวม
- ยาง : ยางของมะเดื่อยังช่วยรักษาอาการปวดแสบปวดร้อนจากเริมหรืองูสวัด
- ในอินเดียเชื่อว่าในทุกส่วนของมะเดื่อมีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด
- การศึกษาทางเภสัชวิทยาพบว่า มะเดื่อมีฤทธิ์ลดการอักเสบแก้ปวด ลดไข้ ต้านเชื้อแบคทีเรีย ต้านเชื้อไวรัส คลายอาการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ ฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด ป้องกันไม่ให้ตับถูกทำลายโดยสารพิษซึ่งจะเห็นว่าการทดลองสมัยใหม่สนับสนุน การใช้ของคนโบราณ
มะเดื่ออุทุมพรจึงเป็นสมุนไพรที่เราต้องช่วยกันอนุรักษ์ทั้งในฐานะของผัก พื้นบ้านสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน หรือในฐานะของยาเย็นที่ช่วยแก้พิษร้อนทั้งในร่างการและผิวพรรณ และที่สำคัญมะเดื่ออุทุมพรให้ร่มเงาดีมากเป็นพืชที่มีความสามารถในการช่วย โลกร้อนได้ดีชนิดหนึ่ง
ประโยชน์ด้านอื่นๆ ของมะเดื่ออุทุมพร
- เนื้อไม้ : ใช้ทำแอกไถ หีบใส่ของ ไม้จิ้มฟัน
- ยางเหนียว : ใช้ลงพื้นสำหรับปิดทอง
- ต้น : ใช้เป็นร่มเงาให้กาแฟ ปลูกในบริเวณอาคารอาศัยร่มเงา หรือใช้ประดับอาคารสถานที่ สวนสาธารณะหรือทางเดินเท้า
- ผลสุก : เป็นอาหารของสัตว์หลายชนิด เช่น นก หนู กระรอก ฯลฯ เป็นการแพร่พันธุ์มะเดื่ออุทุมพรไปด้วย เพราะนอกจากจะทำให้แพร่พันธุ์ไปได้ไกลๆแล้ว ยังช่วยให้ เมล็ดมะเดื่องอกดีขึ้นอีกด้วย เพราะน้ำย่อยในกระเพาะและลำไส้ของสัตว์ เหล่านี้
ประโยชน์ที่สำคัญของมะเดื่ออุทุมพรอีกด้านหนึ่งคือในเรื่องที่เกี่ยวกับความเชื่อและพิธีกรรมต่างๆ ในสังคมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ไม้มะเดื่อถือว่าเป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยามาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ โดยใช้ทำพระที่นั่งในพระราชพิธีราชาภิเษก นอกจากนั้น ยังใช้ทำหม้อน้ำและกระบวยตักน้ำมัน สำหรับกษัตริย์ทรงใช้ในพระราชพิธี มีชื่อมะเดื่ออุทุมพรเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ไทยในช่วงกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย คือ พระเจ้าเสือนั้นเดิมทรงพระนามว่า เดื่อ เพราะเมื่อเกิดได้นำรกไปฝังไว้ใกล้ต้นมะเดื่อ สำหรับพระเจ้าอุทุมพร (ขุนหลวงหาวัด)ทรงมีพระนามเดิม ว่า เจ้าฟ้าดอกเดื่อ เพราะพระราชมารดาทรงพระสุบิน(ฝัน)ว่าพระองค์ ได้ดอกมะเดื่อนั่นเอง ในอดีตคนไทยถือว่าดอกมะเดื่อ เป็นสิ่งที่เห็นได้ยาก นับเป็นบุญวาสนาจริงๆจึงจะได้เห็นหรือเป็นเจ้าของดอกมะเดื่อ การที่พระราชมารดาของพระเจ้าอุทุมพรทรงสุบินว่าได้ดอกมะเดื่อจึงนับเป็นมงคลยิ่ง จึงทรงตั้งชื่อโอรสว่า เจ้าฟ้าดอกเดื่อ และกลายเป็นพระเจ้าอุทุมพรในภายหลัง
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น